เลือกภาษา |   ไทย      อังกฤษ
การดูแลตัวเองหลังคลอด

หลังคลอด มดลูกจะหดตัวกลับมามีขนาดเท่ากำปั้นเหมิอนเดิม พร้อมๆ กับเคลื่อนกลับเข้าที่เดิม   ซึ่งจะใช้เวลา 12 -15 วัน  ในช่วงระหว่างนี้คุณยังต้องไปเข้ารับการตรวจหลังคลอดอยู่อีกระยะหนึ่ง



การตรวจหลังคลอด
ลักษณะคล้ายการตรวจภายใน โดยคุณหมอจะเริ่มจากตรวจสภาพภายนอกก่อน เพื่อดูว่าแผลฝีเย็บ ( ในกรณีคลอดเอง ) เป็นอย่างไร  และตรวจดูแผลผ่าตัดหน้าท้อง (ในกรณีผ่าตัดคลอด ) ว่าแผลเป็นอย่างไร  มีการปริแตกไหม  ติดเชื้ออักเสบหรือไม่ ตรวจเบาหวานดูระดับน้ำตาลหลังคลอด    จากนั้นจะเป็นการตรวจภายในว่า ...
มดลูกเข้าอู่หรือยัง  ซึ่งปกติแล้วแล้วจะใช้ระยะเวลา 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เช็คมะเร็งปากมดลูก  ถุงน้ำที่รังไข่  ปีกมดลูกทั้งสองข้าง

ระยะพักฟื้น
หลังคลอดคุณแม่จะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลก่อน 2-3 วัน เพื่อรอดูอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้  ซึ่งคุณหมอจะตรวจดังนี้คือ
  • มีอาการไข้ตัวร้อนซึ่งบ่งบอกว่ามีอาการอักเสบเกิดขึ้นที่บริเวณแผลคลอดหรือมดลูก
  • ยังมีอาการปวดบวมมดลูกอยู่หรือไม่ ซึ่งปกติแล้วอาการดังกล่าวควรจะหายไปภายใน  2 - 3 วัน หลังคลอด 
  • น้ำคาวปลามีสีจางลง และมีปริมาณลดลงหรือไม่ ถ้าพบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นหรือสีไม่จางลงเลยอาจเป็นสัญญาณ บอกถึงการอักเสบของโพรงมดลูก หรือมีเศษรก ตกค้าง อยู่ภายใน 

 
การให้นมแม่
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์เรา น้ำนมแม่นับเป็นอาหารที่วิเศษที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับลูกรัก แม้ว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะเจริญก้าวหน้าเพียงใด ก็ไม่สามารถผลิตนมผสมใดๆ ที่มีคุณค่าทัดเทียมนมแม่ได้

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ให้ทั้งความอบอุ่น ความผูกพันระหว่างแม่และลูกขณะให้นมที่ใกล้ชิดแบบเนื้อแนบเนื้อ และมีประโยชน์ต่อลูกน้อยตั้งแต่วัยแรกเกิดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่

นมแม่มีความสำคัญที่สุดในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ควรให้ลูกกินแต่นมแม่แต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องกินน้ำหรืออาหารอื่นเลยเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ เสริมอาหารอื่นตามความเหมาะสม ส่วนนมแม่ควรให้กินต่อจนถึงอายุ 2 ขวบ นมน้ำเหลืองที่มีสีเหลืองขุ่นๆ ที่ออกมาในช่วงแรกนั้น อุดมด้วยโปรตีนในปริมาณสูงและ  ประกอบไปด้วยภูมิคุ้มกันโรคหลายชนิด ส่งผลให้ลูกน้อยมีภูมิคุ้มกันดี สุขภาพแข็งแรงตั้งแต่แบเบาะและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจในอนาคต อีกทั้งลดอุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้ กระตุ้นพัฒนาการของทารก ฯลฯ
 
ปัญหาการให้นมลูกนั้นเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกๆ หลังคลอดเท่านั้น ถ้าผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ก็จะสามารถให้นมแม่ต่อไปได้โดยราบรื่น อย่าให้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอุปสรรคจนละความพยายามการให้นมแม่ต่อไป จนเปลี่ยนไปให้นมขวดแทน ในขณะเดียวกันการเพียรให้นมแม่ต่อไปส่งผลดีทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อย ท้ายที่สุดความยากลำบากเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพียงไม่นานก็ผ่านพ้นไป
ปัญหาการให้นมแม่และวิธีแก้ไข
  • หัวนมบุ๋มหรือหัวนมบอด เกิดจากหัวนมมีพังผืดยึดไว้ ควรแก้ไขตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ด้วยการดึงหัวนมบ่อยๆเพื่อให้พังผืดที่ดึงรั้งหัวนมยืดออกหรือฉีกขาด โดยวิธีใช้นิ้วมือกดที่ลานหัวนมแล้วรีดให้หัวนมยื่นออกมาร่วมกับการดึงหัวนมขึ้นมาบ่อยๆ อาจใช้อุปกรณ์ดึงหัวนม (nipple puller) ช่วย 
  • เจ็บหัวนม หัวนมแตก ปัญหานี้มักเกิดจาการให้ลูกดูดนมไม่ถูกต้องในวันแรกๆ หลังคลอด คือให้ลูกดูดบริเวณยอดหัวนมไม่ลึกถึงลานหัวนม หรือเกิดจากการล้างเต้านมบ่อยๆ ด้วยสบู่ จนหัวนมแห้งและแตก เพื่อป้องกันการเจ็บหัวนม ควรอุ้มลูกในท่าที่ถนัด ให้ลูกดูดลึกถึงลานหัวนม และถอนหัวนมออกอย่างนุ่มนวล ควรทำความสะอาดเต้านมด้วยการล้างตามปกติ คือเฉพาะเวลาอาบน้ำเท่านั้น 

  • ระวังลานหัวนมไม่ให้อับชื้น โดยรักษาหัวนมให้แห้งระหว่างมื้อให้นมด้วยการซับแห้งด้วยผ้าสะอาดทุกครั้งหลังให้นมลูก หากหัวนมแห้งแตก อาจใช้น้ำนมทาให้ทั่ว รอให้แห้งก่อนจึงสวมเสื้อ น้ำนมแม่มีคุณสมบัติเป็น moisturizer ชั้นดีช่วยรักษาความชุ่มชื้นของหัวนมไว้ สามารถป้องกันหัวนมแห้งแตกได้ ควรทำความสะอาดเต้านมด้วยสำลีชุบน้ำสะอาดก่อนให้ลูกดูดนมครั้งต่อไป ไม่ใช้สบู่ สารเคมี หรือแอลกอฮอล์ เพื่อล้างเช็ดทำความสะอาดเต้านมก่อนและหลังให้นมลูก 

  • เต้านมคัดตึงบวม เมื่อเต้านมจุน้ำนมจนเต็มแล้วไม่ถูกระบายออก ส่งผลให้มีแรงดันสูงภายในเต้านมไปขัดขวางการไหลของน้ำนม เป็นเหตุให้เต้านมร้อน ผิวแดงเป็นมัน แข็งตึงและปวด ลานหัวนมตึงแข็ง หัวนมตึงสั้นลง มีส่วนทำให้ลูกดูดนมยากขึ้น เพราะน้ำนมไหลออกยาก ทำให้ลูกได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ และเต้านมยังคงคัดตึงอยู่อย่างนั้น  ควรแก้ไขด้วยการประคบเต้านมด้วยน้ำอุ่นประมาณ 10 นาที นวดคลึงหัวนมเพื่อช่วยให้น้ำนมออกมากขึ้น การบีบน้ำนมบางส่วนออกจนลานหัวนมนุ่มลงก่อนให้ลูกดูดนม จะช่วยให้ดูดได้ง่ายขึ้น  เราสามารถป้องกันเต้านมคัดตึงด้วยการให้ลูกดูดนมเมื่อเต้านมเต่งตึง (full breast) ไม่รอจนเต้านมคัดตึง (breast engorgement) และให้ลูกดูดนมบ่อยๆ

 
ท่อน้ำนมอุดตัน เต้านมอักเสบ ฝีที่เต้านม
ทั้ง 3 อย่างมีอาการใกล้เคียงกัน เกิดจากการมีน้ำนมที่ข้นขึ้นจนอุดตันท่อน้ำนมท่อใดท่อหนึ่ง ทำให้น้ำนมคั่งอยู่ในต่อมเต้านมต่อมนั้น อาจมีอาการเริ่มแรกด้วยเป็นก้อนที่เต้านมกดเจ็บ ผิวหนังเหนือก้อนบวมแดง แข็ง หากก้อนเกิดจากน้ำนมที่ค้างอยู่ในท่อน้ำนมโดยยังไม่เกิดการอักเสบ ให้แก้ไขโดยให้ลูกดูดออกให้หมดในเวลานานพอและในความถี่พอ เพื่อให้ท่อน้ำนมหายอุดตันเต้านมก็จะหายคัดตึง
  • การนั่งในท่าให้นมที่เหมาะสม ช่วยให้ลูกดูดนมได้หมดเต้า การนวดเต้านมเบาๆ ประคบด้วยความอุ่น อาบน้ำอุ่นล้วนช่วยให้อาการดีขึ้น ไม่ใช้เสื้อยกทรงที่คับเกินไปเพราะอาจเป็นสาเหตุของท่อน้ำนมอุดตันได้  หากอาการยังไม่ดีขึ้น อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เต้านมอักเสบและฝีที่เต้านมตามมาได้ ความสำคัญจึงอยู่ที่การป้องกันตั้งแต่เริ่มมีอาการเต้านมคัดตึง ซึ่งหากแก้ไขไม่หายภายใน 1 วัน และมีอาการไข้ขึ้น หมายความว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์

  • เต้านมอักเสบมีส่วนทำให้น้ำนมติดเชื้อด้วยได้ จนไม่สามารถให้นมลูกด้วยเต้านมข้างนั้น ซึ่งแพทย์จะให้ยาต้านจุลชีพ หากยังไม่ดีขึ้นจนเกิดเป็นฝี อาจต้องผ่าตัดเพื่อระบายหนองออก

น้ำนมน้อย
แม่บางคนอาจกังวลว่าน้ำนมไม่พอเลี้ยงลูก อันที่จริงน้ำนมแม่นั้นเพียงพอสำหรับลูกน้อยอย่างแน่นอน มีแม่เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ต่อมเต้านมมีจำนวนน้อยกว่าปกติจนผลิตน้ำนมไม่พอเลี้ยงลูก   โดยปกติต้องใช้เวลา 2-3 วัน น้ำนมจึงออกมากขึ้น ระยะนี้เป็นระยะที่ลูกอยู่ในระหว่างการปรับตัว ยังไม่ต้องการอาหารมากนัก อย่ากังวลว่าลูกจะขาดอาหาร ควรให้ลูกกระตุ้นโดยการดูดอย่างสม่ำเสมอทุก 2 ชั่วโมง  การที่แม่มีน้ำนมน้อย ส่วนใหญ่เกิดจากให้ลูกดูดนมไม่ถี่พอ นอกจากนี้ยังเกิดจากการติดเชื้อที่หัวนมและเต้านมได้ด้วย อีกทั้งความวิตกกังวลว่าตัวเองจะทำหน้าที่แม่ได้ไม่ดีพอ ความเครียดและเหนื่อยจากการรับมือกับทั้งงานบ้านและงานนอกบ้านในเวลาเดียวกัน

คุณแม่ควรทำใจให้สงบลดความวิตกกังวลลง พึงเลี้ยงลูกตามธรรมชาติด้วยความผ่อนคลาย มีความสุขที่เห็นลูกมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วและโตวันโตคืน

การเก็บรักษาน้ำนมแม่ที่ถูกต้อง
 วิธีเก็บน้ำนมแม่ที่ง่ายที่สุดและสะดวกมั่นใจที่สุดคือการเก็บไว้ในตู้เย็น สำหรับช่องธรรมดาที่ไม่มีของอื่นปน จะเก็บได้ประมาณ 5 วัน ถ้าเก็บในช่องธรรมดาแต่มีของอื่นปนด้วยจะเก็บได้ 2 – 3 วัน เก็บไว้ในช่องแช่แข็งได้นานประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ถ้าบ้านไหนมีตู้เย็นแบบประตูช่องแช่แข็งแยกจากประตูใหญ่ การเก็บไว้ในช่องแช่แข็งโดยไม่ปนกับอาหารอื่นจะเก็บได้นานถึง3 เดือน ถ้ามีอาหารอื่นปน ระยะเวลาในการเก็บก็จะสั้นลง คือประมาณ 1 – 2 เดือน กรณีที่ไม่มีตู้เย็น คุณแม่สามารถเก็บน้ำนมไว้ในกระติกน้ำแข็งแทนได้ แต่ไม่แนะนำให้เก็บโดยไม่แช่เย็นเลย เพราะอากาศแบบบ้านเราหากวางทิ้งไว้นาน ภูมิคุ้มกันในนมจะลดลงอย่างรวดเร็วจนสูญสลายไปในที่สุด ทางที่ดีควรเก็บไว้ในตู้เย็นจะดีกว่าค่ะ การเก็บน้ำนมจะใส่ในภาชนะสำหรับใส่อาหารแบบไหนก็ได้ หรือจะใช้ถุงเก็บน้ำนมแม่ก็ได้ โดยเขียนวันเวลาที่ได้ปั๊มนมไว้บนภาชนะด้วย และควรแบ่งปริมาณน้ำนมให้พอดีกับมื้อหนึ่งที่ลูกกิน ถ้าคุณแม่ไม่แน่ใจว่านมที่เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีนั้นเสีย หรือบูดหรือไม่ แนะนำให้คุณแม่ชิมจะดีที่สุดค่ะ  ถ้ามีรสชาติเปรี้ยวๆนั่นแหละค่ะบูดแล้วทิ้งได้เลย ไม่ต้องเสียดายค่ะ

 

     
วิถีไทย อยู่ไฟ ดีลิเวอรี่
เลขที่ 91/37-38 ม.8 ถ.พหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120  โทร : 02-0381819 มือถือ : 086-6548714, 086-6265626
 Email : [email protected]